9 กันยายน 2555

                                                                      บทความสุดท้าย
                                      เรื่อง
                                   สึนามิ


 สาเหตุของการเกิดคลื่นสึนามิ
     คลื่นสึนามิเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกันดังนี้
     1. การระเบิดอย่างรุนแรงของภูเขาไฟใกล้ทะเล 
     2. การเกิดแผ่นดินเลื่อนถล่มใต้ทะเล หรือใกล้ฝั่ง
     3. การเกิดจากก้อนหินตกลงในอ่าวหรือมหาสมุทร
     4. การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกด้วยแรงเทคโทนิคจากแผ่นดินไหว ซึ่งอาจจะเป็นการเกิดแผ่นดิน ถล่มยุบตัวลง หรือเปลือกโลกถูกดันขึ้นหรือยุบตัวลง ทำให้มีน้ำทะเลปริมาตรมหาศาลถูกดันขึ้น หรือทรุดตัวลง อย่างฉับพลัน พลังงานมหาศาลจะถ่ายเทไปเกิดการเคลื่อนตัวของน้ำทะเลเป็นคลื่นยักษ์ที่เหนือทะเลลึก  ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปกติเพียงไม่กี่ฟุตเท่านั้น จึงไม่สามารถแม้แต่จะบอกได้ด้วยภาพถ่าย จากเครื่องบินหรือยานอวกาศ
     5. การเกิดระเบิดใหญ่ใต้น้ำจากนิวเคลียร์ 
     กล่าวโดยทั่วไป คลื่นสึนามิเกิดจากการเคลื่อนตัวของพื้นมหาสมุทรในแนวดิ่ง เนื่องจากแรงเทคโทนิค จากแผ่นดินไหว ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ ส่วนกรณีที่มีการเคลื่อนตัวตามแนวนอน มักเกิดบริเวณที่มีภูเขาใต้น้ำ หรือหน้าผาใต้น้ำ โดยจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก การเคลื่อนตัวตามแนวดิ่งขึ้น และลงของพื้นมหาสมุทร ขณะเกิดแผ่นดินไหว จะเกี่ยวข้องกับความสูงของลำน้ำที่เพิ่มขึ้น เมื่อมีการสั่นสะเทือน อนุภาคน้ำจะกระเพื่อม ขึ้นและลง เริ่มต้นเป็นศูนย์กลางของการแผ่กระจายคลื่นน้ำออกไปทุกทิศทาง ความสูง ขนาด การเคลื่อนที่ และความเร็วของคลื่น น้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสูงสุดใกล้ชายฝั่ง บริเวณแหล่งกำเนิดในทะเล แทบจะไม่ปรากฏผลกระทบจากคลื่นสึนามิ บริเวณชายฝั่งที่มีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะสม และความลึกของชายฝั่งตื้น จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินบริเวณชายฝั่งนั้นได้อย่างมาก
อันตรายจากคลื่นสึนามิ     
  อันตรายต่อบุคคล
     1. เสียชีวิต หรือสูญหาย
     2. บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น โดนไม้ หรือสิ่งของกระแทก
     3. เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ หลังจากเกิดภัยสึนามิ เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ โรคน้ำกัดเท้า
     4. สุขภาพจิตเสื่อม เนื่องจากการหวาดผวา หวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือความเศร้าโศกจากการสูญเสียบุคคลที่รักและทรัพย์สิน
     5. ขาดรายได้ เนื่องจากไม่สามารถทำงานได้ หรือธุรกิจการค้าต่าง ๆ หยุดชะงัก  ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ
   อันตรายต่อทรัพย์สิน
     1. อาคารบ้านเรือน ร้านค้า โรงเรียน สาธารณสถาน และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
     2. การสื่อสาร ระบบโทรคมนาคมถูกตัดขาด ไฟฟ้า น้ำประปา ได้รับความเสียหาย
     3. แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลถูกทำลาย ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศชาติ
          เหตุการณ์คลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในโลกในรอบทศวรรษที่ 90 เกิดบริเวณ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ซึ่งวัดขนาดของแผ่นดินไหว ได้ถึง 8.9 ริชเตอร์ ส่งผลให้เกิดภัยจากคลื่นสึนามิขึ้นที่ประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย ไทย โซมาเลีย พม่า มัลดีฟส์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย แทนซาเนีย แอฟริกาใต้  บังกลาเทศ ส่วนการที่มีชนชาติต่าง ๆ เสียชีวิตจำนวนมากด้วย เนื่องจากคนเหล่านั้นได้เดินทางไปประเทศที่เกิดสึนามิ สำหรับในประเทศไทย เกิดคลื่นสึนามิขึ้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ คือจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ระนอง และสตูล ทำให้เกิดการสูญเสีย อย่างใหญ่หลวง มีผู้เสียชีวิต 5,303 ราย ยอดผู้เสียชีวิตนี้ไม่รวมผู้สูญหาย โดยเฉพาะประเทศไทยแล้ว  สึนามิเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ผู้ประสบเหตุไม่สามารถล่วงรู้เหตุการณ์มาก่อน  ไม่มีการเตรียมพร้อม ทำให้ต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

การป้องกันภัยจากสึนามิ
     การป้องกันภัยจากสึนามิอาจกระทำได้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน  ซึ่งต้องให้ความร่วมมือกันดังนี้
          ภาครัฐ
     1. จัดวางผังเมืองให้เหมาะสม โดยพิจารณาจัดให้แหล่งที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณที่ห่างจากชายฝั่งทะเล
     2. ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการป้องกันและบรรเทาภัยจากคลื่นสึนามิ และแผ่นดินไหว
     3. จัดให้มีการฝึกซ้อมรับภัยจากคลื่นสึนามิ
     4. วางแผนในเรื่องการอพยพผู้คน การกำหนดสถานที่ในการอพยพ การเตรียมแหล่งสะสมน้ำสะอาด  การจัดเตรียมบ้านพักอาศัยชั่วคราว การระสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขณะเกิดภัย การกำหนดขั้นตอน หรือวิธีการชวยเหลือบรรเทาภัยด้านสาธารณสุข การรื้อถอนและฟื้นฟูสิ่งก่อสร้าง
     5. หลีกเลี่ยงการก่อสร้างใกล้ชายฝั่งทะเล ในเขตที่มีความเสี่ยงภัยจากคลื่นสึนามิสูง
     6. จัดให้มีศูนย์เตือนภัยจากคลื่นสึนามิ
     7. มีการประกาศเตือนภัย
          ภาคเอกชน
     1. ควรให้การสนับสนุนภาครัฐและประชาชนในเรื่องการประชาสัมพันธ์ หรือการให้ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่องการป้องกันและบรรเทาภัยจากคลื่นสึนามิ
     2. ให้การสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อใช้ในการป้องกันภัยสึนามิ และการช่วยเหลือหลังเกิดภัยพิบัติขึ้น
     3. ให้การสนับสนุนด้านกำลังคนในการช่วยเหลือ กรณีเกิดภัยจากสึนามิ
          ภาคประชาชน
     1. ควรติดตามการเสนอข่าว หรือประกาศเตือนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
     2. รู้จักสังเกตปรากฏการณ์ของชายฝั่ง ถ้าน้ำทะเลลดระดับลงมามากหลังเกิดแผ่นดินไหว ให้สันนิษฐานว่า อาจเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้ ให้รีบอพยพคนในครอบครัว หรือสัตว์เลี้ยง ให้อยู่ห่างจากชายฝั่งมาก ๆ ควรอยู่ในที่ดอนหรือที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง
     3. กรณีที่อยู่ในเรือ ซึ่งจอดอยู่ที่ท่าเรือหรืออ่าวให้รีบนำเรือออกไปกลางทะเล เมื่อทราบว่าจะเกิด คลื่นสึนามิพัดเข้าหา
     4. หากเกิดภัยจากคลื่นสึนามิ พยายามตั้งสติให้มั่น เพื่อเตรียมรับสถานการณ์
     5. อย่าลงไปชายหาดเพื่อไปดูคลื่นสึนามิ เพราะเมื่อเห็นคลื่นแล้วก็จะไม่สามารถวิ่งหลบหนีได้ทัน
     6. ไม่ควรประมาท กรณีที่มีข่าวว่าจะเกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็ก เนื่องจากคลื่นสึนามิในบริเวณหนึ่ง อาจมีขนาดเล็ก แต่ว่าอีกบริเวณหนึ่งอาจมีขนาดใหญ่ก็ได้
     7. คลื่นสึนามิสามารถเกิดขึ้นได้อีกหลายระลอก จากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งเดียว เนื่องจากการ แกว่งไปแกว่งมาของน้ำทะเล ถ้าจะลงไปชายหาดให้รอสักระยะหนึ่ง เพื่อให้แน่ว่าปลอดภัยจากคลื่นแล้ว
                    

                            
 

                        



                            


      ..................................................................................................................................................                                                                           
                                                                                                               จัดทำโดย

                                                                                            นางสาวอมรรัตน์      สุวรรณาภา
                                                                                                             ม. 5/5       เลขที่35




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น